03.20 2023

Tip: เดินบนหิมะยังไง แนะนำรองเท้าเดินหิมะ​ ฉบับ 2023

.
.

หากนึกถึงฤดูหนาวของฮอกไกโด ก็ต้องนึกถึงหิมะนุ่มฟูที่ย้อมทั้งเมืองให้เป็นสีขาวโพลนที่หลาย ๆ คนอยากจะมาสัมผัสใช่ไหมล่ะครับ แต่ทั้งหิมะและอากาศหนาวระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในฤดูหนาวนั้นก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย และกับหลายคนที่เพิ่งได้มาสัมผัสเป็นครั้งแรกอาจจะต้องปรับตัวกันยกใหญ่เลยทีเดียว
.

เมืองหลักในจังหวัดฮอกไกโดอย่างซัปโปโรนั้นติดโผ 1 ใน 10 เมืองที่มีหิมะตกเฉลี่ยมากที่สุดในโลก ไม่นับรวมถึงเมืองอื่น ๆ บนเกาะที่หิมะก็เยอะมากไม่แพ้กัน ปัญหาใหญ่สำหรับคนที่มาจากประเทศเขตร้อนชื้นอย่างเรา ๆ ในเมืองที่มองไปทางไหนก็เจอแต่หิมะสีขาว ก็คือการเดินบนพื้นหิมะนั่นเอง
.

.

บางคนอาจจะคิดว่าการเดินบนหิมะก็เหมือนกับการเดินบนพื้นธรรมดา แต่ว่าไม่เลยครับ หิมะที่เพิ่งตกลงมานั้นสามารถถูกบีบอัดจนกลายเป็นน้ำแข็งหนา ๆ ลื่น ๆ ได้ หิมะสามารถละลายได้ในวันที่อากาศอุ่นจนกลายเป็นเหมือนน้ำปั่นแฉะ ๆ บนพื้น แล้วกลับมาแข็งตัวได้อีกครั้งในตอนกลางคืนที่อุณหภูมิติดลบได้เช่นกัน ซึ่งทุกอย่างเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคกับทริปฤดูหนาวในฝันของเราแน่ หากเราไม่รู้วิธีการเดินบนหิมะที่เหมาะสม

วันนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีการเดิน วิธีการเลือกรองเท้า และข้อควรระวังในการเดินบนพื้นหิมะ เพื่อให้ทุกท่านได้มีความสุขกับทริปฤดูหนาวอย่างเต็มที่แบบปลอดภัยหายห่วงกันครับ
.


.

ก่อนที่จะไปสู่วิธีการเดิน อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่าเราอาจได้พบเจอหิมะบนพื้นในหลายรูปแบบ เลยจะพามารู้จักพื้นผิวต่าง ๆ ที่จะได้เจอในช่วงฤดูหนาวกันก่อน

1.หิมะตกใหม่

.

.

พื้นผิวหิมะที่เดินได้ง่ายที่สุดคือหิมะตกใหม่ครับ โดยที่หิมะเหล่านี้จะยังไม่ได้ถูกเหยียบหรืออัดเป็นก้อนน้ำแข็ง เวลาเดินก็จะไม่ลื่นมาก สามารถเดินแบบปกติได้โดยไม่ลำบากมากนัก หลายคนจะชอบพื้นหิมะตกใหม่เป็นพิเศษเพราะเวลาที่เหยียบลงไปแล้วหิมะก็จะอัดกันเป็นเสียงกรอบแกรบ ๆ ฟินเท้ามาก ๆ แนะนำให้ลองครับ

แต่ว่า… แม้จะเป็นพื้นที่เดินง่าย แถมหิมะหนา ๆ ข้างทางเหมือนจะคอยเชื้อเชิญให้เรากระโดดลงไปกลิ้งเล่นอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าหิมะหนานุ่มที่ข้างทางนั้นจะเป็นหิมะอย่างเดียวเสมอไปนะครับ ส่วนใหญ่บริเวณในเมืองและเขตชุมชน กองหิมะหนา ๆ นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่หิมะบนถนนและฟุตปาธถูกโกยขึ้นมากองไว้โดยรถโกยหิมะ และบางครั้งใต้กองหิมะเหล่านั้นอาจมีสิ่งที่เป็นอันตรายกับเราได้ ทั้งต้นไม้ ท่อเหล็ก ขยะ จักรยานที่ถูกจอดทิ้งไว้ หรือหิมะสีเหลือง ที่อาจจะไม่ต้องบรรยายว่าเป็นอะไร …เอาเป็นว่ารู้กัน ระวังอย่ากระโดดลงไปบนกองหิมะในที่ที่ไม่ควรโดดนะครับ
.

.
.

เห็นจักรยานในกองหิมะที่สูงกว่า 1 เมตรนั่นไหมครับ นั่นล่ะครับ บางครั้งกระโดดลงไปอาจจะเจอพวกนี้นี่แหละใต้หิมะ

.

2.น้ำแข็งแผ่น ๆ *ลื่นมาก*

เมื่อหิมะบนพื้นถูกอัดทับกันเพราะน้ำหนักของคนที่เดินผ่านไปมา ก็จะกลายเป็นน้ำแข็งแผ่น ๆ บนพื้น ซึ่งเป็นพื้นผิวที่สามารถพบได้ทั่วไปบนทางเดิน โดยลักษณะก็จะมัน ๆ สะท้อนแสง หากเจอแบบนี้ให้ระวังไว้ก่อนเลย บางครั้งในบริเวณที่มีคนเดินผ่านเยอะมาก ๆ แทบจะกลายเป็นลานไอซ์สเก็ตขนาดใหญ่เลยก็ว่าได้
.

.
.

เห็นพื้นน้ำแข็งมัน ๆ ลื่น ๆ แบบนี้ เลี่ยงได้เลี่ยงนะครับ อันตรายมาก ๆ

.

3.หิมะเปียก / หิมะเหลว

ในวันที่อากาศอุ่นและหิมะตก หิมะที่ตกลงมาอาจละลายไปบางส่วนและกลายเป็นหิมะเปียก (sleet) ที่ทำให้เราตัวเปียกได้โดยไม่รู้ตัว และบางครั้งก็จะกลายเป็นหิมะเปียก ๆ บนพื้นได้ นอกจากนี้อากาศที่อุ่นก็จะทำให้หิมะที่สะสมข้างทางเริ่มละลายลง กลายเป็นเหมือนน้ำปั่นเกล็ดหิมะแบบสเลอปี้บนพื้น แล้วก็จะเฉอะแฉะมาก ๆ พื้นผิวแบบนี้ไม่ได้ยากต่อการทรงตัวเท่าไหร่ แต่อาจจะทำให้รองเท้ากับเสื้อผ้าเปียกและเลอะได้ครับ
.

.

ตัวอย่างหิมะที่ตกลงมาสะสมในวันก่อนหน้าและเริ่มละลายเล็กน้อย ลักษณะจะคล้ายกับสเลอปี้

.

4.หิมะเปียกที่กลับมาแข็งตัวอีก

หลังจากหิมะละลายไปเป็นแบบในข้อด้านบน บ่อยครั้งที่ตอนกลางคืนอากาศจะเย็นลงจนต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอีกครั้ง ทำให้หิมะเปียกบนพื้นแข็งตัวเป็นน้ำแข็งและคงรูปอยู่อย่างนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรูปรอยรองเท้า ที่ทำให้พื้นไม่สม่ำเสมอและทรงตัวยาก หากเดินไม่ระวังล่ะก็จะเสียสมดุลและลื่นล้มหรือสะดุดล้มได้ง่าย ๆ เลย
.

.

หิมะที่ละลายไปเป็นหิมะเปียก โดนคนเหยียบจนเป็นรอยเท้า และแข็งตัวอีกครั้ง คงรูปรอยเท้าเป็นน้ำแข็งเอาไว้ เดินลำบากมาก ๆ

.

5.น้ำที่เคลือบพื้นและแข็งตัวเป็นฟิล์มน้ำแข็งบางๆ

พื้นแบบนี้ค่อนข้างอันตรายเลยครับ เพราะบางครั้งเราจะไม่เห็นว่าตรงนั้นมีน้ำแข็ง และนึกว่าเป็นพื้นธรรมดาที่เหยียบลงไปปกติได้ แต่หารู้ไม่ว่าพื้นบริเวณนั้นมีฟิล์มน้ำแข็งบาง ๆ เคลือบอยู่ และจะอันตรายมาก ๆ หากเดินโดยประมาท พื้นแบบนี้พบได้บ่อยในพื้นที่ค่อนข้างเรียบ อย่างเช่นส่วนสีขาวของทางม้าลาย ดังนั้นเวลาข้ามทางม้าลายต้องมีสติมาก ๆ และพยายามเลี่ยงบริเวณสีขาวนะครับ
.


.

ขั้นตอนต่อไปคือ การเลือกรองเท้า ขอแนะนำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่อาจเป็นประโยชน์กับการเลือกซื้อรองเท้าไว้ก่อนที่จะไปสู่คำแนะนำในการเลือกรองเท้าครับ

  • シューズ (ชู-สึ ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ shoes) หรือ 靴 (คุทสึ) = รองเท้า
  • 冬靴 (ฟุยุ คุทสึ) = รองเท้าสำหรับฤดูหนาว
  • 防水 (โบซุย) = กันน้ำ
  • 防滑 (โบคัทสึ) = กันลื่น
  • 防寒 (โบคัง) = กันความหนาว
  • ブーツ (บู-ทสึ ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ boots) = รองเท้าบู๊ท

ในช่วงฤดูหนาว ตามร้านรองเท้ามักจะมีแบ่งโซนขายรองเท้าสำหรับฤดูหนาวโดยเฉพาะและมีรองเท้าให้เลือกเยอะมาก ขอแนะนำว่าหากไม่ได้มีความจำเป็นต้องเดินเยอะและไม่ได้มาเที่ยวบ่อย อาจไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรองเท้าที่กันลื่น (ซึ่งบางคู่แพงมากเป็นหลักหมื่น-หลายหมื่นเยน) หรือรองเท้าที่แพงมากก็ได้ กับบางคนอาจจะบอกว่ารองเท้าผ้าใบก็ไหวอยู่ แต่เราไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าผ้าใบครับ หากเป็นรองเท้าธรรมดาแนะนำว่าใส่เป็นรองเท้าหนังจะดีกว่า

แต่ไหน ๆ ก็มาถึงที่ รองเท้าสวย ๆ ก็เยอะแยะ ตัดสินใจซื้อรองเท้าหน่อยแล้วกันเผื่อได้มาเยือนบ่อย ๆ
.

.

​​

รองเท้าที่กันน้ำ ซึ่งหลายรุ่นอาจจะราคาสูงหน่อย แต่ถ้าซื้อมาใส่ก็คุ้มนะ

เมื่อต้องเลือกซื้อรองเท้า ขอให้คำนึงถึงข้อหลัก ๆ ดังนี้

  • กันน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาในช่วงที่จะมีโอกาสเจอหิมะเปียกได้มาก (ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม และช่วงกลาง-ปลายเดือนกุมภาพันธ์)

ถ้าเท้ากับถุงเท้าเราเปียกน้ำเมื่อไหร่ นอกจากจะหมดสนุกแล้วยังทำให้หนาวขึ้นอีกหลายเท่า และหลายครั้งอาจทำให้เท้าเปื่อย เล็บห้อเลือด และนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้โดยไม่รู้ตัว
.

.

ถ้าคิดว่าจะต้องไปลุยหิมะหนา เลือกซื้อเป็นบู๊ทยาวไปเลยก็ไม่เสียหาย อุ่นด้วย

  • อุ่น

ข้อนี้สำคัญมากสำหรับใครที่มีแผนจะต้องออกไปเดินด้านนอกอาคารเป็นเวลานาน (อย่างเช่นวางแผนจะมาเที่ยวเทศกาลหิมะ ซึ่งต้องอยู่กลางอากาศติดลบหลายชั่วโมง) รองเท้าที่อุ่นช่วยให้เราหายกังวลเรื่องหนาวเท้า เท้าชา ทำให้เราเดินเที่ยวได้อย่างมีความสุขครับ

นอกจากนี้พื้นรองเท้าก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญรองลงมา ร่องฝ่าเท้าที่ลึกและพื้นรองเท้าที่ขรุขระ ช่วยเพิ่มผิวสัมผัสให้เท้าเรามีพื้นที่ยึดเกาะกับพื้นหิมะมากขึ้นด้วย แต่หากดูแล้วรองเท้าที่มีไม่น่ากันลื่นได้มาก ก็สามารถซื้อแผ่นยางกันลื่น (บางคนเรียก spike) มาสวมใส่เพิ่มได้เช่นกัน
.

.

.

มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดคือ “วิธีการเดินบนหิมะ”

.

ความจริงแต่ละคนก็จะมีจุดสมดุลในการเดินและการทรงตัวไม่เหมือนกัน อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อเรารู้วิธีการเดินที่เหมาะกับเราแล้วก็จะชินไปเอง ในส่วนนี้เป็นการแนะนำทริคการเดินและข้อควรระวังทั่ว ๆ ไป ที่หลายคนอาจจะไม่ทันได้นึกถึง และน่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงแรกที่ยังไม่ชินกับการเดินบนหิมะครับ
.

1.ประเมินก่อนว่าพื้นผิวและหิมะบนทางเดินเป็นแบบไหน

พื้นผิวแต่ละแบบมีวิธีการเดินแตกต่างกัน อย่างหิมะตกใหม่หนา ๆ ก็เดินได้เล่นได้เต็มที่เลย แต่ในบางครั้งต้องระวังว่าพื้นข้างใต้อาจจะเป็นน้ำแข็งลื่น ๆ ได้ ดังนั้นถ้าหิมะไม่หนามากก็ต้องระวังในระดับหนึ่งเลยครับ นอกจากนี้ก็พยายามหลีกเลี่ยงพื้นน้ำแข็งมัน ๆ แวววาว เพราะจะลื่นล้มได้ง่ายมากไม่ว่าจะเดินวิธีไหน หิมะแฉะก็ต้องระวังน้ำเข้ารองเท้า หรือถ้าเป็นทางลาดก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินไปอีก
.

.

พื้นผิวอีกแบบที่ควรระมัดระวังคือพื้นต่างระดับ เช่นบันได หรือรอยต่อระหว่างพื้นที่มีระบบละลายน้ำแข็งกับพื้นน้ำแข็ง เนื่องจากเวลาเหยียบบนพื้นต่างระดับเราจะเสียการทรงตัวได้ง่ายมาก

2.ลงน้ำหนักให้เต็มเท้า

การเหยียบลงไปเต็มฝ่าเท้าจะช่วยเพิ่มพื้นผิวยึดเกาะหิมะให้กับรองเท้าของเรา และยังช่วยให้เราถ่ายเทน้ำหนักในการวางเท้าได้ง่ายกว่า ลดความเสี่ยงที่จะลื่นล้มได้ครับ
.

3.ไม่ต้องรีบ ค่อย ๆ เดิน

หากยังไม่เคยชินกับพื้นหิมะ อย่าวิ่งเด็ดขาด หรือหากเห็นคนญี่ปุ่นเดินกันเร็ว เราไม่จำเป็นจะต้องเดินเร็วตามเค้าไปด้วย เน้นให้ตัวเองปลอดภัยที่สุดจะดีกว่า ถ้าล้มเกิดอุบัติเหตุไปคงหมดสนุกทั้งทริปเลย
.

4.เดินบนขอบทาง หลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นน้ำแข็ง

เพราะหิมะตรงกลางทางเดินมักจะถูกคนเหยียบซ้ำ ๆ จนอัดกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งลื่น ๆ แล้ว แต่ขอบด้านข้างยังคงมีหิมะที่ไม่ลื่นมากอยู่ ถ้ายังทรงตัวไม่ค่อยได้ให้เลือกเหยียบบริเวณที่เป็นหิมะ หลึกเลี่ยงบริเวณที่เป็นน้ำแข็งมัน ๆ นะครับ
.

.

เจอทางที่ตรงกลางมันวิ้งวับแบบนี้ เหยียบตรงขอบหิมะด้านข้างจะดีที่สุด

5.มีสติเสมอ อย่าประมาท คอยสังเกตรอบ ๆ ตลอดเวลา

แม้จะเดินได้คล่อง ทรงตัวได้ดีแล้ว แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ตลอด บางคนเหยียบพลาดนิดเดียวได้ลงไปเบรกแดนซ์บนพื้นก็มี และสิ่งสำคัญคือคอยสังเกตรอบ ๆ อยู่เสมอ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราหาทางที่เดินได้สะดวกแล้ว ยังช่วยให้เรารู้ได้อีกว่าถ้าเกิดว่าลื่นและล้ม ตรงไหนจะปลอดภัยกับเรามากที่สุด
.

6.หากหิมะตกหนัก การกางร่มช่วยคุณได้

เพราะหิมะที่ตกหนักอาจจะพัดเข้าหน้าของเรา ทำให้ไม่สามารถมองเห็นทางได้อย่างชัดเจน อันจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การกางร่มยังช่วยให้หิมะไม่ตกสะสมบนเสื้อผ้าและกระเป๋าของเรามากเกินไป ไม่ต้องเสียเวลาปัดหิมะออกเวลาที่เดินเข้าในที่อุ่นด้วย
.

.

อีกความอันตรายของวันที่หิมะตกหนัก คือทุกอย่างจะขาวโพลน จนบางครั้งอาจเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ไวท์เอาท์” ที่ทุกอย่างจะเป็นสีขาวและแยกไม่ออกเลยว่าตรงไหนเป็นอะไร ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก บางครั้งมองไม่เห็นไฟข้ามถนนที่ทางแยกตรงหน้าเลยด้วยซ้ำ

7.อย่าเอามือล้วงกระเป๋า ใส่ถุงมืออุ่น ๆ แทน

การเอามือล้วงกระเป๋าจะทำให้ทรงตัวยากขึ้น และหากเราลื่นล้ม เราไม่สามารถยกมือที่ล้วงกระเป๋าอยู่มาป้องกันอวัยวะสำคัญได้ทัน และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ครับ (อ่านเกี่ยวกับวิธีล้มได้ด้านล่างเลย)
.

8.ใช้แผ่นยางกันลื่น (spike)

ตามร้านสะดวกซื้อและร้านยาก็จะมีแผ่นยางกันลื่นที่เราสามารถนำมารัดกับพื้นรองเท้าวางขายอยู่ทั่วไป หากต้องการตัวช่วยเพราะรองเท้าลื่นจริง ๆ และมีแพลนที่จะต้องเดินอยู่ด้านนอกเป็นเวลานาน ก็แนะนำให้ซื้อมาใช้ได้

แต่เจ้าแผ่นยางนี้อาจจะทำให้ชีวิตลำบากเมื่อต้องเดินเข้าภายในอาคาร เพราะอาคารหลายแห่งมีกฎ “ห้าม” ใส่แผ่นยางกันลื่นเดินเข้าในอาคาร เนื่องจากตัวปุ่มเหล็กจะทำให้พื้นอาคารเสียหาย สังเกตป้ายประกาศตามด้านหน้าอาคารกันดี ๆ นะครับ
.

9.แว่น+แมสก์ = มองไม่เห็นทาง

ในช่วงโควิดแบบนี้ การใส่แว่นตาและใส่แมสก์เดินกลางหิมะไม่ใช่เรื่องสนุกเลย นอกจากไอน้ำจะเกาะจนแมสก์เปียกชุ่มแล้ว หลายครั้งแว่นตาก็ขึ้นฝ้าและทำให้เรามองไม่เห็นทางอีก ซึ่งถ้าเกิดเราถอดแว่นสายตาไม่ได้จริง ๆ ตัวช่วยในกรณีนี้คือ “สเปรย์/เจลกันฝ้า” ที่เมื่อฉีดหรือทาลงไปบนแว่นตาแล้วจะลดการเกิดฝ้าบนแว่นตาได้ มีขายอยู่ทั่วไปในร้านขายยา มองหาสินค้าที่เขียนว่า “メガネのくもり止め” ได้เลยครับ
.

10.ตรวจสอบเชือกรองเท้าและการแต่งตัวก่อนจะออกไปลุยหิมะ

สิ่งสำคัญเลยคือเชือกรองเท้าไม่ควรยาวรุงรังเพราะจะทำให้เราสะดุดได้ และก็ควรใส่รองเท้าที่มีขนาดกระชับ ไม่หลวมเกินไป หากรองเท้าหลวมเกินไปจะทำให้เราลื่นได้ง่ายขึ้นจริง ๆ (คอนเฟิร์มด้วยประสบการณ์ตรงของเราเอง)
.

11.“ตู้เขียว” กับกรวดกันลื่น

ในช่วงฤดูหนาว สังเกตว่าจะมีตู้สีเขียว ๆ แบบมีฝาเปิดด้านหน้าตั้งอยู่แทบจะทุกสี่แยก โดยเฉพาะในตัวเมืองซัปโปโร ซึ่งด้านในของตู้นั้นมีถุงบรรจุกรวดกันลื่นสีดำ ๆ ที่เรามักจะเห็นถูกนำไปโรยอยู่บนน้ำแข็ง นอกจากกรวดนี้จะช่วยกันลื่นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปยังช่วยให้น้ำแข็งละลายกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ร่วน ๆ ทำให้เดินได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นการเดินบนบริเวณที่มีกรวดกันลื่นอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีหลีกเลี่ยงพื้นที่ลื่นได้เช่นกัน
.

.

“ตู้เขียว” ที่ถูกนำมาวางตรงสี่แยกก่อนหิมะจะตกลงมาในเดือนพฤศจิกายน

.

นอกจากทริคต่าง ๆ ที่ช่วยให้เดินบนหิมะได้โดยไม่ลื่นล้มได้ง่าย ๆ แล้ว ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงการล้มไม่ได้แล้ว เราก็มีวิธีการล้มให้เจ็บน้อยที่สุดมาฝากส่งท้ายด้วยครับ

ส่วนใหญ่เวลาเราลื่นล้มมักจะอยู่ในท่าทางการล้มแบบหงายหลังล้ม ซึ่งจะเจ็บน้อยที่สุดเมื่อเอาก้นลง เวลาที่ล้มให้ระวังบริเวณคอและศีรษะเป็นพิเศษ เมื่อเราหงายหลังให้เอามือมารองที่ศีรษะ ระวังไม่ให้ไปกระแทกกับอะไร และห้ามเอามือยันพื้นเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเสี่ยงกระดูกหักแล้ว ถ้าไม่ได้ใส่ถุงมือไว้อาจจะเป็นแผลที่มือเพราะขูดกับน้ำแข็งได้ครับ

ทั้งหมดนี้รวบรวมมาจากประสบการณ์ที่ทีมงาน Trippino Hokkaido ซึ่งอยู่ที่นี่มาหลายปีได้พบเจอมา เจอหิมะมามากมายหลายแบบ ล้มมานับครั้งไม่ถ้วน และอยากจะนำมาแชร์กัน แต่แม้ว่าจะทำตามทริคเหล่านี้ทั้งหมด ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าโอกาสที่จะลื่นและล้มบนหิมะจะเป็น 0 นะครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือความไม่ประมาท หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้สนุกอย่างเต็มที่ไปกับฤดูหนาวของฮอกไกโดนะครับ
.


.
.
Discover Cool Things!
Trippino HOKKAIDO

Blog Search

Category

Recent Posts

Archive

Instagram